เคยมั้ย เห็นกันอยู่ดีๆ มาวันหนึ่งต้นไม้ก็มาตายซะอย่างนั้น มาดูกันว่า ทำไมต้นไม้ตาย ..เพราะบางทีเราอาจฆ่าต้นไม้โดยไม่รู้ตัว
ข้อมูลหลักตรงนี้เรียบเรียงมาจาก อาจารย์นพพร นนทภา จาก กลุ่มขุนดง มาเป็นวิทยากรบรรยายให้อาสาสมัครรู้จักต้นไม้ใหญ่ให้มากขึ้น
อัพเดทข่าวทาง LINE Add friend ที่ ID : @th-arbor (มี@ด้วย)
ทำไมต้นไม้ตาย
"ทำไมต้นไม้ตาย? ตอบง่ายๆแบบครอบจักรวาลเลย คือกระบวนการหมุนเวียนธาตุ น้ำ และการแลกเปลี่ยนก๊าซถูกทำลาย"
ใบ ลำต้น ราก ทุกส่วนของต้นไม้ทำงานเชื่อมต่อกันเป็นระบบ เกิดเป็นกระบวนการหมุนเวียนของธาตุ น้ำ และอากาศ ส่วนไหนถูกทำลายให้ทำงานไม่ได้ ก็กระทบกับชีวิตต้นไม้
ใบทำหน้าที่ปรุงอาหาร หายใจ คายน้ำ ส่วนสีเขียวในใบไม้เก็บแสงอาทิตย์มาผลิตอาหารให้ตัวเองเป็นหลัก เรียกว่า สังเคราะห์แสง และด้านล่างใบมีปากใบเอาไว้คายน้ำ ถ้าเราอยากให้ต้นไม้ตายด้วยวิธีทำลายใบก็ทำให้ใบทำหน้าที่ไม่ได้ เช่น หาอะไรไปปิดใบไม่ให้สังเคราะห์แสงได้ ไม่ให้ปากใบด้านล่างเปิด หรือ บั่นยอดเอาใบออกทั้งหมดทำให้ต้นไม้ตายได้ บางครั้งต้นไม้อาจไม่ตายทันที ถ้ามีอาหารเก็บสะสมไว้พอที่จะสร้างใบออกมาปรุงอาหารใหม่ แต่หากต้นนั้นมีอาหารเก็บตามรากตามลำต้นไม่พอก็นับถอยได้ตายแน่นอน ต่อมา ลำต้น นอกจากลำเลียงน้ำอาหารไปสู่ทุกส่วน และหายใจแลกเปลี่ยนก๊าซด้วย ตามช่องต่างๆ ตามรูของรอยแตกต่างๆ เช่นกัน ถ้าเราอยากให้ต้นไม้ตายโดยทำลายลำต้น เราก็ปิดทางหายใจของลำต้น ส่วนราก รากนั้นทำหน้าที่ดูดน้ำ ดูดอาหาร หายใจ สังเกตว่าทุกส่วนมีการหายใจเหมือนกับเซลล์ร่างกายของเราที่ทุกส่วนต้องใช้ออกซิเจน สรุปว่า ถ้าเราอยากให้ต้นไม้ตาย แค่ทำให้แต่ละส่วนทำหน้าที่ตามธรรมชาติของมันไม่ได้ หรือทำให้หายใจไม่ได้เท่านั้นเอง กลับกัน ถ้าอยากรักษาชีวิตไม่อยากให้ต้นไม้ตายก็หลีกเลี่ยงและคอยประคองให้แต่ละส่วนทำหน้าที่ได้ หายใจได้ สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ตาย
ใบ ลำต้น ราก ทุกส่วนประกอบกันเป็นต้นไม้ดำรงชีวิตตามปกติได้เรื่อยๆ แต่มีสาเหตุหลักๆอยู่ 2 กลุ่มที่ทำให้ต้นไม้ทำงานตามปกติไม่ได้ กระบวนการหมุนเวียนของธาตุ อากาศ และน้ำ เสียไป นั่นคือ ภัยธรรมชาติและภัยจากมนุษย์
อย่างแรก ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง โรคแมลงระบาด ล่าสุดที่ภาคใต้น้ำท่วม ไม่ใช่คนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ต้นไม้โดนด้วยเหมือนกัน รากต้นไม้ที่แช่อยู่ในน้ำหายใจไม่ได้ อาจจะทนได้ระยะประมาณหนึ่งก่อนจะตาย ถ้าต้นที่ชอบน้ำอาจจะไม่ตาย อย่างเช่น ไม้ในป่าโกงกาง ป่าชายเลน เพราะพันธุกรรมถูกปรับให้อยู่อย่างนั้นได้แล้ว ในระบบรากจะมีฟองน้ำสะสมอากาศไว้ใช้ในภาวะน้ำท่วม
ภาพภัยต่อต้นไม้
อย่างที่สองคือภัยจากมนุษย์นั่นเอง ตัด เผา โค่น หรือฆ่าแบบไม่ได้ตั้งใจ การเผาทำไร่ เผาฟาง จะเจอในงานเกษตรกรรม เผาไม่ให้รก บางทีเผาเล่นๆก็มี เผาไปมาต้นไม้ก็โดนเผาไปด้วย พอมาดูเรื่องการขยายเมือง งานก่อสร้างมักจะตัดต้นไม้เคลียร์พื้นที่ มีน้อยมากที่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะรักษาต้นไม้เอาไว้ ต้นที่พอจะรอดก็อาจโดน ถมโคนต้นปรับระดับดินให้สูงขึ้น ปิดทางหายใจที่โคนต้น ยิ่งถมโคนสูงก็ยิ่งตายเร็วขึ้น หรือ ลานจอดรถที่บดอัดดิน ให้ดินแน่นตามแบบวิศวกรรมก็ทำให้รากต้นไม้หายใจไม่ออก ถ้าเวลาที่เราเรียนวิชาเกษตร จะถูกสอนว่าให้พรวนดินบ่อยๆ ให้รากมันเดินได้ง่าย อากาศเข้าไปแลกเปลี่ยนได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นบางที่เทคอนกรีตชิดโคนต้น นอกจากโดนบีบที่รากก็เพิ่มแรงอัดที่ลำต้นด้วย คราวนี้ผลกระทบต่อต้นไม้ก็รุนแรงขึ้น บางที ก่อสร้างปรับภูมิทัศน์แล้วทำให้ระบายน้ำไม่ได้ ท่วมขังจนรากหายใจไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะหายใจไม่ได้ที่โคนหรือรากก็ดี ต้นไม้จะไม่ได้ตายในทันทีแต่จะค่อยๆอ่อนแอและทยอยตาย เซลล์ต้นไม้จะเริ่มไม่ได้รับออกซิเจน เริ่มฝ่อ เริ่มไม่สบาย ค่อยๆอ่อนแอ มีโรคมีแมลงเข้าโจมตีจนตายทีละต้นสองต้นในปีที่ 3 เป็นต้นไป
สรุปแล้วในต้นไม้มีระบบหมุนเวียนก๊าซ น้ำ ธาตุต่างๆ เมื่อไหร่ที่ระบบนี้ถูกทำลาย หายใจไม่ออก จะส่งผลให้ต้นไม้ตาย ไม่ว่าจะเป็น ถมโคน ถูกบดอัดดิน น้ำขัง เทคอนกรีตชิดต้น
อัพเดทข่าวและบทควา ทาง LINE Add friend ที่ ID : @th-arbor (มี@ด้วยค่ะ) |