เจ้าหน้าที่ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) กำลังดำเนินการขยายพันธุ์ต้นมะขามสนามหลวง
ต้นไม้บริเวณรอบสนามหลวงนี้ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่าเป็นพยานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนต้นอยู่ร่วมพระราชพิธีสำคัญมาเกินร้อยปี เหมาะควรที่จะบำรุงรักษาให้ยืนต้นสง่าคู่กรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงนี้ต้นมะขามโทรมลงจากการใช้พื้นที่พระราชพิธีพระบรมศพ ทั้งรัฐและประชาชนก็เข้าไปช่วยกันดูแลฟื้นฟูต้นไม้
เมื่อย้ายต้องต้นไม้ออกเพื่อก่อสร้างพระเมรุมาศจึงมีช่างย้ายต้นไม้ฝีมือดีมาขุดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ต้นมะขามขึ้นชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ย้ายยากมาก ยิ่งเป็นต้นไม้เก่าแก่อายุเกินร้อยปีประกอบกับเป็นต้นไม้ที่มีสภาพไม่สมบูรณ์ จึงยิ่งมีความเสี่ยงตายจากการเคลื่อนย้ายสูงขึ้น คล้ายกับ คนป่วยวัยชรารับการผ่าตัดแล้วย้ายที่พัก ต้นมะขามสนามหลวง60ต้นถูกย้ายออกเพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างพระเมรุมาศ
เดือน ก.พ. 60 สมเด็จพระเทพฯเสด็จทอดพระเนตรการทำงานฟื้นฟูและทรงเป็นห่วงต้นมะขามสนามหลวง
การเตรียมย้ายต้นมะขาม เมื่อกลางเดือนก.พ. 60 ภาพจากศูนย์ประสานงานอาสาฯ Volunteer for Dad
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) รวมถึง กรมศิลปากร และ กทม. จึงเข้ามาช่วยอนุรักษ์ไว้ โดย "เก็บส่วนหนึ่ง" ของต้นมะขามสนามหลวงที่ถูกย้ายออก เผื่อว่าคุณปู่จะทนพิษบาดแผลไม่ไหวจะได้มีกิ่งจากลำต้นเดิมมาปลูกที่เดิม
อัพเดทข่าวต้นไม้ในเมืองทาง LINE Add friend ที่ ID : @th-arbor (มี@ด้านหน้า)
วิธีเก็บต้นมะขามสนามหลวงต้นเดิมเอาไว้จาก อพ.สธ.
คุณพรชัย จุฑามาศ รองผอ. อพ.สธ. อธิบายว่าวิธีการเสียบยอด คือเอากิ่งต้นเดิมไปเสียบตอต้นใหม่ที่เพาะจากเมล็ดมีรากแก้วแข็งแรง สุดท้ายเราจะได้พันธุกรรมต้นไม้ต้นเดิมโดยมีรากแก้วของต้นตอช่วยส่งน้ำส่งอาหารให้ ซึ่งวิธีนี้จะดีกว่าการปักชำตรงที่ ปักชำได้รากแขนงไม่ใช่รากแก้ว
ตัดยอดจากต้นมะขามที่จะถูกย้าย 60 ต้น เมื่อปลายเดือน ม.ค. 60 เลือกกิ่งที่มีขนาดเท่ากับหรือเล็กกว่าต้นตอ ในที่นี้เลือกกิ่งขนาดเท่าดินสอ แล้วเฉือนกิ่งสองด้านให้เป็นลิ่ม
ผ่าต้นตอลงไปประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำกิ่งที่เตรียมไว้เสียบลงบนตอ ต้องการให้ท่อลำเลียงน้ำและอาหารจากต้นตอเชื่อมกับกิ่งที่เสียบไว้ กดให้แน่นแล้วเอาพลาสติกพันไว้ ต้นตอนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สจ. อ.หล่มสัก และอบต.น้ำชุน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
หลังจากนั้นนำถุงใสครอบเพื่อรักษาความชื้น รวมแล้วทั้งหมดมี 1,100 ต้น โดยมีเจ้าหน้าที่เพาะชำจาก อพ.สธ. สวนจิตรดา, คลองไผ่ นครราชสีมา และ ตากฟ้า นครสวรรค์ มาช่วยกันเสียบยอด ขณะนี้กำลังติดตามอัตราการรอดจากยอดที่ยังสดและเริ่มแตกตา
คงจะมีอีกหลายคนอยากเก็บต้นไม้สำคัญเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่กับบ้านมานาน ต้นไม้ที่พ่อปลูก ต้นไม้จากบ้านบรรพบุรุษอยู่กันมาตั้งแต่เล็ก ก็อาจจะลองเก็บต้นไม้ด้วยวิธีนี้ก็ได้ เพราะอย่างน้อยไม่ว่าต้นเดิมจะเป็นอะไรไป เรายังมี "ส่วนหนึ่งของต้นเดิม" เก็บเอาไว้คงคุณค่าทางจิตใจ
ขอขอบคุณ คุณพรชัย จุฑามาศ รองผอ. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพระราชดำริฯ ที่อธิบายวิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชไว้ให้ค่ะ ติดตามเว็บไซต์ของ อพ.สธ.ได้ที่นี่
อัพเดทข่าวต้นไม้ในเมืองทาง LINE Add friend ที่ ID : @th-arbor (มี@ด้านหน้า)
|